แชร์

6 ขั้นตอน เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง [อัปเดตปี 2567]

อัพเดทล่าสุด: 18 ม.ค. 2024
12629 ผู้เข้าชม
6 ขั้นตอน เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง

ช่วงนี้หลายคนคงคิดที่จะอยาก เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เป็นของตัวเอง แต่ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มยังไงกันใช่ไหมครับ ? เพราะจากการเติบโตและก้าวหน้าของอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทย ที่มีทั้งโอกาสกับความท้าทายมากมาย หากมีความสามารถมากพอ ก็สามารถกอบโกยเม็ดเงินจากอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างมหาศาล

อีกทั้งเป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่มีรายรับเป็นปกติธุระเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ที่จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายรับเกิน รวมถึงผู้ประกอบการกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งมีเหตุให้ต้องซื้อสินค้า หรือรับบริการที่บังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย

ในบทความนี้ พวกเรา บริษัทรับเหมาก่อสร้าง S.J.Building ที่มีประสบการณ์การเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างมาก่อน จะขอมาแชร์แต่ละขั้นตอนตั้งแต่เริ่มเปิดธุรกิจก่อสร้างกันครับ หวังว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้ที่สนใจ ไม่มากก็น้อย

เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง

เลือกอ่านตามหัวข้อ

1. เตรียมความพร้อม ก่อนเริ่มเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง

สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนเริ่มเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง คือความพร้อมของตัวเองกับทีมงาน ทั้งในเรื่องทักษะความรู้ แผนธุรกิจ และเงินทุน ที่ควรเตรียมให้พร้อมต่อไปนี้

  • ศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการที่อยากเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ควรต้องมีความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างทั้งหมด อย่างเช่น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2558 และกฎกระทรวงควบคุมอาคารฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่ข้องเกี่ยวกันด้วย - "ไซต์งานก่อสร้าง" กฎระเบียบที่ควรรู้ เพื่อความปลอดภัย
  • วางแผนธุรกิจ เพื่อกำหนดเป้าหมายกับแนวทางดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในระยะยาว ครอบคลุมถึงงานด้านการเงิน การตลาด และด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
  • ตรียมเงินทุนให้พร้อม นอกจากทุนสำหรับจดทะเบียนบริษัท เงินทุนในที่นี้รวมถึงส่วนของเงินลงทุนซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เงินทุนหมุนเวียน และเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับใช้ดำเนินธุรกิจด้วย
  • ความพร้อมด้านบุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์งานก่อสร้าง หมายถึงการมีบุคลากรที่มีทักษะความสามารถ และเครื่องมืออุปกรณ์อยู่ในสภาพพร้อมใช้ อย่างเพียงพอเหมาะสมกับประเภทและขนาดของงานก่อสร้างนั้น ๆ

2. จดทะเบียนบริษัท

ต่อมาคือการจดทะเบียนบริษัท หรือการนำกิจการรับเหมาก่อสร้างไปจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (DBD) เพื่อให้กิจการมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย

ประเภทของนิติบุคคล ที่กิจการรับเหมาก่อสร้างจดทะเบียนได้

  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ประกอบด้วยผู้ก่อการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หุ้นส่วนทุกคนต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของ หจก. อย่างไม่มีจำกัด แบ่งได้เป็นสองประเภทคือ หุ้นส่วนทั่วไป ที่ต้องร่วมรับผิดชอบหนี้สินอย่างไม่มีจำกัด กับหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบ ที่จะรับผิดชอบหนี้สินไม่เกินจำนวนเงินตามที่ได้ลงทุนไว้เท่านั้น
  • บริษัทจำกัด (บจก.) ประกอบด้วยผู้ก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ผู้ถือหุ้นทุกคนต้องรับผิดชอบในหนี้สินของบริษัทไม่เกินจำนวนเงินที่ตนได้ลงทุนไว้ การบริหารงานของ บจก. จะกระทำโดยคณะกรรมการบริษัท ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น

ทำไมควรจดทะเบียน เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง

  • เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้จ้าง เพราะเมื่อผู้จ้างทราบว่า บริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งนี้ได้ผ่านการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมทำให้เกิดความไว้วางใจที่จะใช้บริการ
  • เพื่อประโยชน์ในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ เพราะไม่ใช่ว่าจะก่อสร้างได้ตามอำเภอใจ เงินมางานเดินแค่นั้นจบ แต่จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อมูลของบริษัทก่อสร้างจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ก่อนที่จะดำเนินการขออนุญาต หรือดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • เพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ เพราะการเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างทำให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งช่วยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างเช่น สิทธิในการออกแบบใบกำกับภาษี หรือสิทธิกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงิน

ขั้นตอนจดทะเบียน เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง

  1. ตรวจสอบชื่อบริษัทที่ต้องการจดทะเบียน ว่ามีอยู่แล้วหรือไหม ได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า - https://datawarehouse.dbd.go.th/index
  2. ยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท พร้อมเอกสารประกอบ ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสาขาของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในจังหวัดที่ตั้งบริษัท
  3. รอรับหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ใช้เวลาประมาณ 3-5 วันทำการ
  4. ยื่นคำขอจดทะเบียน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ที่สำนักงานสรรพากรในเขตที่ตั้งบริษัท
  5. รอรับเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ใช้เวลาประมาณ 1-2 วันทำการ

3. จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นภาษีที่เกิดจากการเพิ่มมูลค่าของสินค้าหรือบริการ ที่ผู้ประกอบการเสียให้แก่รัฐ ในอัตราปัจจุบันคือ 7% ของมูลค่าสินค้าหรือบริการ

ผู้ประกอบการจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ด้วยการยื่นคำขอได้ที่กรมสรรพากร

ขั้นตอนจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

  1. กรอกแบบฟอร์ม คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) และยื่นให้กับสำนักงานสรรพากรในพื้นที่ที่ประกอบกิจการ หรือยื่นออนไลน์ที่เว็บไซต์ - https://vsreg.rd.go.th/jsp/FVATDetail.jsp
  2. เตรียมสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท และสำเนาเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบการยื่นแบบฟอร์ม
  3. รอรับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ซึ่งจะแสดงหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และถูกจัดส่งไปยังที่อยู่ตามที่ลงทะเบียนไว้
  4. แสดงหนังสือรับรองการจดทะเบียน ที่สถานที่ประกอบกิจการของคุณ และใช้หมายเลขประจำตัวในการออกใบกำกับภาษี และยื่นแบบฟอร์มภาษี

4. สมัครสมาชิกและได้รับหนังสือรับรอง จากสภาสถาปนิก (ACT)

สภาสถาปนิก หรือ Architect Council of Thailand (ACT) คือองค์กรควบคุมวิชาชีพสถาปัตยกรรมของประเทศไทย ที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลและควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายในประเทศ

หากเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย ก็ควรต้องสมัครสมาชิกและได้รับหนังสือรับรองจากสภาสถาปนิก (ACT) เนื่องเพราะกฎหมายควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 39 ทวิ กำหนดให้อาคารบางประเภทต้องจัดทำแบบแปลน และขออนุญาตก่อสร้างจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น - งานก่อสร้าง ทุกประเภทมีอะไรบ้าง [มือใหม่ควรอ่าน]

การมีหนังสือรับรองจากสภาสถาปนิก (ACT) คือการยืนยันอย่างนึง ว่าเราเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีศักยภาพในการก่อสร้างอาคารได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และผ่านมาตรฐานความปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม

ขั้นตอนขอหนังสือรับรอง จากสภาสถาปนิก

  1. ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตฯ ยื่นคำขอ แบบ สภส. 15 พร้อมกับเอกสารหลักฐาน ส่งที่สภาสถาปนิก
  2. เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารกับหลักฐาน พร้อมออกใบรับเรื่องให้ กรณีเอกสารกับหลักฐานไม่สมบูรณ์ เจ้าหน้าที่จะไม่ออกใบรับเรื่อง และคืนเอกสารทั้งหมดให้ผู้ยื่น
  3. ชำระค่าธรรมเนียม และรับใบเสร็จ
  4. เจ้าหน้าที่ยืนยันข้อมูลผู้ยื่นคำขอ เมื่อถูกต้องครบถ้วน จึงดำเนินจัดทำหนังสือรับรอง
  5. หลังจัดทำหนังสือรับรอง หัวหน้าฝ่ายจะตรวจความถูกต้องอีกครั้ง และเสนอไปยังสำนักงานฯ เพื่อให้ผู้มีอำนาจลงนาม (เลขาธิการสภาสถาปนิก)
  6. เจ้าหน้าที่แจ้งผลผู้ยื่นขอหนังสือรับรอง และจัดส่งตามที่อยู่ที่ได้รับแจ้งไว้ (ไม่เกิน 15 วัน)

5. ลงทะเบียน e-GP กับภาครัฐ

e-GP หรือ Electronic Government Procurement คือระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำขึ้นโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานรัฐและเอกชน เพิ่มความโปร่งใส และลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น

เหตุผลที่หากเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และควรต้องลงทะเบียน e-GP

  • มีโอกาสได้รับงานก่อสร้างภาครัฐมากขึ้น เนื่องเพราะปัจจุบัน (พ.ศ.2567) เกือบทุกหน่วยงานภาครัฐเลือกใช้ระบบ e-GP ในการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างกันหมด
  • เพิ่มความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ เพราะระบบ e-GP มีการเปิดเผยข้อมูลผู้ค้าอย่างครบถ้วน ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐหรือประชาชนสามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้
  • อำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมการประมูล รวมถึงช่วยลดขั้นตอน และค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงานประมูลได้มาก ทั้งการประมูลแบบปิด (e-Auction) หรือการประมูลแบบเปิด (e-Bidding) เพียงลงทะเบียนกับยื่นเอกสารประกอบผ่านระบบ e-GP

ขั้นตอนลงทะเบียน e-GP หลังเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง

  1. ลงทะเบียน e-GP ผ่านเว็บไซต์ Thai Government Procurement และเลือก ลงทะเบียนผู้ค้ากับภาครัฐ - https://process3.gprocurement.go.th/EGPWeb/jsp/control.egp
  2. กรอกข้อมูลที่จำเป็นในแบบฟอร์มลงทะเบียน พร้อมอัปโหลดเอกสารประกอบ
  3. พิมพ์แบบการลงทะเบียน และให้กรรมการผู้มีอำนาจนิติบุคคลเซ็นต์กับลงลายมือชื่อ พร้อมทั้งแนบเอกสารสำคัญของบริษัทตามไป
  4. ส่งเอกสารให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการจัดซื้อจัดจ้าง หรือส่งทางไปรษณีย์ จากนั้นรอผลอนุมัติทาง E-mail

6. เริ่มดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

หลังจากที่ดำเนินครบทุกขั้นตอน การเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง คุณก็สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจก่อสร้างได้อย่างถูกกฎหมาย ด้วยความรู้กับทักษะด้านงานก่อสร้าง การบริหารจัดการ และการประเมินราคาก่อสร้าง รวมถึงการหางานกับการจัดการเงินทุน เพื่อสร้างผลกำไรให้กับบริษัท แล้วนำไปสู่การแข่งขันกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างคู่แข่งได้อย่างทัดเทียม

คำถามที่พบบ่อย การเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง

  • อยากเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ต้นทุนเท่าไหร่ ?

ตอบ ถ้าอยากเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ก็ต้องมีเงินทุนพอสมควรครับ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ เลยคือ เงินทุนจดทะเบียน (บจก. ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท , หจก. ขั้นต่ำ 2 หมื่นบาท) กับ เงินทุนหมุนเวียน ที่ไม่ควรมีน้อยกว่า 30% ของมูลค่าโครงการ

เงินทุนหมุนเวียน นี้สำคัญมากเลยนะ เพราะงานก่อสร้างเป็นงานที่มีมูลค่าสูง บางครั้งผู้รับเหมาก็จำเป็นต้องวางมัดจำให้กับเจ้าของงานก่อน หรืออาจต้องซื้อวัสดุก่อสร้างล่วงหน้า - 10 ข้อที่คนทำ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ควรทราบ

  • กิจการรับเหมาก่อสร้าง ควรเปิดแบบ หจก. หรือ บจก.

ตอบ จริง ๆ แล้ว อยากเปิดแบบไหนก็ได้นะ ขึ้นอยู่กับความสะดวกและความพร้อมของแต่ละคนเลย แต่ถ้าให้เลือกระหว่าง หจก. กับ บจก. ผมคิดว่า บริษัทจำกัด (บจก.) ดีกว่าครับ

เพราะธุรกิจก่อสร้างนั้นมีความเสี่ยงสูง ทั้งแก่ภายในและแก่บุคคลภายนอกเลยครับ ถ้าเกิดความเสียหายร้ายแรงขึ้นมา หจก. หุ้นส่วนเกือบทั้งหมดจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่ถ้าเป็น บจก. ทางหุ้นส่วนจะร่วมรับผิดชอบเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนได้ลงทุนเพียงเท่านั้น

  • ใช้บ้านเป็นที่อยู่เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างได้ไหม ?

ตอบ ได้ครับ แต่ต้องดูปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบด้วย อย่างเรื่องขนาดของบ้าน ทำเลที่ตั้ง และสภาพของบ้าน

นอกจากนี้ การใช้บ้านเป็นที่อยู่เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง อาจทำให้ต้องเสียภาษีมากขึ้น เพราะว่าบ้านเป็นที่อยู่อาศัย จึงต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในอัตราที่สูงกว่าการใช้อาคารสำนักงานเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง

สรุป

หากต้องการ เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง คุณอาจเริ่มจากการเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเรื่องข้อกฎหมาย การวางแผนธุรกิจ และความพร้อมด้านบุคลากรกับอุปกรณ์งานก่อสร้าง รวมถึงเงินทุนที่ต้องเตรียมให้พร้อม ทั้งส่วนเงินทุนจดทะเบียน และเงินทุนหมุนเวียนสำหรับใช้ดำเนินธุรกิจ

เมื่อเตรียมความพร้อมแล้ว ก็จะไปสู่ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อรับหนังสือรับรองต่อไป

สำหรับผู้รับเหมารุ่นใหม่ที่สนใจเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างของตนเอง พวกเรา S.J.Building แนะนำให้ศึกษาความรู้ และหาประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาก่อน ไม่ควรรีบรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เกินศักยภาพจะรับไหว แต่ให้เริ่มจากงานขนาดเล็กเพื่อเก็บผลงานกับประสบการณ์ แล้วค่อย ๆ เติบโตรับงานที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับ

บทความที่เกี่ยวข้อง
ผู้รับเหมา คือใคร
การเลือก ผู้รับเหมา แบบรายย่อยหรือนิติบุคคล ในโครงการก่อสร้าง ควรต้องเข้าใจหลักคิดการคัดกรองผู้รับเหมาที่ดี เพื่อให้งานก่อสร้างประสบความสำเร็จ
18 มิ.ย. 2024
เครื่องมือช่างก่อสร้าง
คู่มือเลือกซื้อและดูแลรักษา เครื่องมือช่างก่อสร้าง ครอบคลุมทั้งเครื่องมือก่อสร้างพื้นฐานและเฉพาะทาง พร้อมบอกแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์ช่างก่อสร้าง
23 พ.ค. 2024
อุปกรณ์ก่อสร้าง
คู่มือมือใหม่ อุปกรณ์ก่อสร้าง กับทุกสิ่งที่ควรรู้ ตั้งแต่ประเภท รายชื่อ พร้อมเคล็ดลับการเลือกซื้ออุปกรณ์วัสดุก่อสร้าง
23 พ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy